พลังงานทดแทนในสายพระเนตร
ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 50 ของพลังงานที่ใช้ เนื่องจากแหล่งพลังงานและการผลิตภายในประเทศมีจำกัด ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการจึงเป็นสาเหตุให้ประเทศขาดความมั่นคงทางด้านพลังงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักถึงปัญหาการใช้พลังงานของคนไทย รวมถึงปัญหาที่อาจจะขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงทรงค้นคว้าวิจัยถึงแนวทางการใช้พลังงานที่เหมาะสมกับประเทศ โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ทั้งยังทรงพระราชทานพระราชดำริในโครงการด้านพัฒนาการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศไทย
1.พลังงานน้ำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงห่วงใยต่อพสกนิกร ทุกครั้งที่เสด็จในท้องถิ่นทุรกันดารหรือในพื้นที่ห่างไกล จะทรงสนพระทัยสอบถามถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำบริโภคและทำการเกษตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เล่าว่า “พระองค์ท่านทรงมีความรู้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสามารถทำได้สองแบบ แบบแรกได้จากการที่น้ำไหลจากที่สูงลงมาพัดกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนอีกแบบหนึ่งคือ น้ำไหลในทางราบซึ่งหากไหลอยู่ตลอดเวลาก็ทำให้กังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้เช่นกัน เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นทางน้ำไหลอยู่ตลอดเวลาที่บ้านยางจึงทรงมีพระราชดำริให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างไฟฟ้าที่นี่ ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผลิตไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปผลไม้ เพราะเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านดังกล่าว”
กฟผ. จึงก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ้านยางในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2516 เมื่อแล้วเสร็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดโรงไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517
โรงไฟฟ้าบ้านยางสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 0.4 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง นอกจากช่วยให้โรงงานแปรรูปผลไม้สามารถดำเนินงานได้แล้ว ยังช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านยาง และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างๆตามมาอีกมากมาย อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ คลองช่องกล่ำ จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ, เขื่อนพรมธารา จังหวัดชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง จังหวัดเชียงใหม่, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ บ้านสันติ จังหวัดยะลา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
2.พลังงานแสงอาทิตย์
ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชฤหัยที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าในโครงการพระราชดำริให้พื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึง โดยนำระบบเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อกิจกรรมต่างๆของโครงการ อาทิ ใช้สำหรับวิทยุสื่อสาร ขนาด 100 วัตต์ ที่โครงการแม่ปูนหลวง และโครงการหลวงปางอุ๋ง ใช้ในการสูบน้ำและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น
3.พลังงานลม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนำพลังงานลมไปช้ในการสูบน้ำเข้าพื้นที่ทำการเกษตรในโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการส่วนพระองค์จิตรลดา มีกังหันลมสูบน้ำจำนวน 2 เครื่องติดตั้งบริเวณด้านหน้าโครงการฯ และบริเวณที่โรงเพาะเห็ด โดยกังหันลมทั้งสองเครื่องใช้สูบน้ำจากคลองรอบพระตำหนักเข้ามาที่บ่อเลี้ยงปลานิลด้านหน้าโครงการฯ และนำน้ำจากคลองมาใช้ในการอุปโภคที่บริเวณโรงเพาะเห็ด
4.พลังงานชีวภาพ
คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง กล่าวถึงพระราชดำริเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีมานานกว่าสี่สิบปี ในหนังสือ “๗๒ ปี แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง” ว่า “พระองค์ทรงรับสั่งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ แล้วว่าค่ารถจะแพง ก็แปลว่าน้ำมันจะแพง บังเอิญผมรู้จักกับพวกอุตสาหกรรมน้ำมัน แล้วคุยเรื่องนี้ เขาบอกว่าเขาแข่งขันกัน มันก็ต้องลดราคาลงไปเรื่อย ๆ พระองค์ก็รับสั่งให้ทดลองผลิตแอลกอฮอล์ทำน้ำมันเชื้อเพลิง ทำเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ ในสวนจิตรลดา ตอนนั้นทรงมีพระราชปรารภว่าเมืองไทยกำลังเห่อปลูกต้นยูคาลิปตัส ที่ไหน ๆ ก็ปลูกหมด ยูคาลิปตัส ๓ ปี จึงจะตัดได้ แล้วท่านก็รับสั่งว่า ระหว่าง ๓ ปีเขาจะเอาอะไรกิน แต่ถ้าเผื่อปลูกอ้อย ปลูกทุกปีขายได้ทุกปี แล้วก็เอาอ้อยมาทำแอลกอฮอล์ เอาแอลกอฮอล์มาผสมเบนซิน เราก็ทดลองผสมตั้งแต่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งเบนซินทั้งน้ำมันดีเซล ใช้ได้รถยนต์ของโครงการส่วนพระองค์ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีโซลฮอล์” การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพของโครงการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีประราชประสงค์ให้นำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยพระราชทานเงินทุนวิจัยเริ่มต้นเป็นจำนวน ๙๒๕,๕๐๐ บาท
การศึกษาวิจัยภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่การทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้วยังออกไปรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย โรงงานแอลกอฮอล์ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๒๙ สามารถผลิตแอลกอฮอล์ ๙๑ เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา ๒.๘ ลิตรต่อชั่วโมง ต่อมาเนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการสร้างอาคารศึกษาวิจังหลังใหม่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชูต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่นอาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักในภาคเหนือ รถเกิดอุบัติเหตุทกให้ไฟไหม้รถทั้งคัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงได้มีการคิดนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมาต่อมาก็สามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ
ในหลวงกับพลังงานทดแทน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อาจารย์ธนัช สุขวิมลศรี อาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
http://www.tumcivil.com/engfanatic/content/file/article/839-file1.pdf
http://www.eppo.go.th/royal/m1700_0020.html